.jpg)
เด็กชายเติมศักดิ์ คณานุรักษ์ กับนายทหารญี่ปุ่นที่สันนิษฐานว่าคือ เรืออากาศตรี ตาเบรุ อิซากิ
ซึ่งมักจะแวะเวียนมาหาทุกวันด้วยความคิดถึงลูกชายวัยไล่เลี่ยกันของตนที่ต้องพลัดพรากกันอยู่ที่ญี่ปุ่น ในช่วงที่ญี่ปุ่นใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อเข้าบุกยึดดินแดนมลายูจากอังกฤษ
เมืองปัตตานี เดือนธันวาคมเดือนนี้เป็นหน้ามรสุม น้ำในแม่น้ำมากเสมอตลิ่ง ถนนหนทางมีโคลนตมเป็นบางแห่ง
รุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในช่วงเวลาประมาณ ๔.๐๐ น. ได้ยินเสียงปืนดังมาจากทางด้านที่ตั้งของจังหวัด ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำปัตตานี มีทั้งเสียงปืนเล็ก ปืนกล ปืนใหญ่เบา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะเป็นการซ้อมรบของทหารบ่อทอง ร. พัน ๔๒
แต่แล้วมีคนมาร้องเรียกที่หน้าประตูบ้าน บอกว่า "ญี่ปุ่นมาแล้ว ภรรยาท่านข้าหลวงและภรรยานายอำเภออพยพมาอยู่ที่บ้านขุนธำรงฯ* แล้ว" ข้าพเจ้าก็ยังไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง (* ขุนธำรงพันธุ์ภักดี พี่ชายของภรรยาข้าพเจ้า)
อีกเพียงชั่วครู่ พวกเด็กผู้หญิงอีก ๔ คนก็มาเรียกที่หน้าประตูอีก บอกว่า "ญี่ปุ่นมาแล้ว" ข้าพเจ้าสอบถามเพิ่มเติมได้ความชัดเจนก็พอจะเชื่อถือได้ว่าเป็นเรื่องจริงแน่แท้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรดีในสถานการณ์เช่นนี้ นึกแต่ว่า ทหารคงจะไม่ทำอันตรายราษฎร ข้าพเจ้าจึงรอฟังข่าวอยู่ที่บ้าน
ครั้นพอเวลารุ่งสาง ข้าพเจ้าออกมายืนรอดูอยู่หน้าบ้าน ได้มีคนวิ่งผ่านมาและบอกว่า "มันขึ้นมาทางนี้แล้ว ไปช่วยกันเร็ว" ข้าพเจ้าจึงได้บอกให้เขารีบไปแจ้งขอกำลังตำรวจมาช่วยสมทบ และอีกเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวพวกราษฎรชาวปัตตานีต่างก็พากันวิ่งถือปืนออกไปทำการต่อสู้ต้านทานพวกทหารญี่ปุ่นกัน แต่ข้าพเจ้าจำไม่ได้ว่าใครบ้าง
ข้าพเจ้าจึงรีบเข้าไปเอาพระเครื่องราง ลูกกระสุนปืนแฝด และลูกกระสุนปืนรีวอลเวอร์ ออกมาแจกจ่ายไปให้หลายคน แต่จำไม่ได้ว่าเป็นใครบ้าง
จากนั้นก็ให้คนเฝ้าประตูบ้านคอยดูแลต้อนรับพวกผู้หญิงและเด็กที่กำลังตื่นตระหนกตกใจวิ่งหนีกันเป็นที่สับสนวุ่นวายไม่รู้จะไปที่แห่งหนใด ให้เข้าไปหลบอยู่ในบ้านของข้าพเจ้าก่อนเพื่อความปลอดภัย ทั้งหมดมีประมาณ ๖๐ คน และสั่งให้จัดแจงหุงหาอาหารมาดูแลกัน
ต่อมาก็เห็นนายมานิตย์ (เค่งฮ่วน) วัฒนานิกร เดินถือปืนมาที่หน้าบ้าน ข้าพเจ้าก็แนะนำให้เขารีบไปสมทบที่กองตำรวจ
แล้วข้าพเจ้าก็รีบวิ่งขึ้นไปเรือนชั้นบนเพื่อตรวจดูทางหน้าต่าง ก็เห็นพวกเรายึดแนวตั้งยิงอยู่ริมทางหลังโรงฆ่าวัว ข้าพเจ้าจึงออกไปทางหลังบ้าน รีบวิ่งหลบหลีกวิถีกระสุนเข้าไปหาพรรคพวกและแจกลูกกระสุนปืนรีวอลเวอร์ให้ พร้อมกับกล่าวเตือนสติปลุกใจ แล้วกลับเข้าบ้านมาออกตรวจดูทางหน้าบ้านและพูดให้สติแก่ผู้อพยพให้อยู่ในความสงบอย่าตื่นตกใจ
อยู่เพียงชั่วครู่หนึ่ง ความข้องใจก็มีขึ้นอีกข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งออกทางหลังบ้าน ครั้นพอโผล่หน้าออกประตูไป ก็เห็นมีผู้โบกมือห้ามไม่ให้ออกไป ข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งเข้ายึดต้นมะพร้าวเพื่อใช้เป็นที่กำบัง แล้วจึงกวักมือเรียกให้เขามาหา เขาจึงลัดเลาะคลานบ้างวิ่งบ้างเข้ามาหาข้าพเจ้าแล้วบอกว่า เขายิงทหารญี่ปุ่นซึ่งเดินหลงมา ๑ คน ไป ๒ นัด แต่ไม่ถูก ทหารญี่ปุ่นคนนั้นวิ่งหนีหายไป ข้าพเจ้าจึงแนะนำให้เขารีบตามไปดูทางบ้านนายโอ๊ะ
ส่วนข้าพเจ้าก็รีบวิ่งเข้าไปหาพรรคพวกทางด้านต้านทานปีกซ้าย แนะนำให้ประหยัดลูกกระสุน อย่ายิงโดยไร้ประโยชน์ เพราะลูกกระสุนเรามีน้อย และได้พูดปลุกปลอบใจให้ฮึกเหิมอีกครั้งก่อนกลับเข้าบ้านมา
ในระหว่างนั้นข้าพเจ้าก็ได้คอยดูเวลาและวิ่งไปมาระหว่างหน้าบ้าน หลังบ้าน และบนเรือน เพื่อตรวจดูเหตุการณ์ข้างนอกและดูแลความเป็นอยู่ของบรรดาผู้ที่อพยพเข้ามาหลบอยู่ภายในบ้าน และให้คนใช้และคนที่เป็นผู้ชายซึ่งหลบภัยเข้ามาอาศัยด้วยได้ช่วยกันระดมขุดหลุมหลบภัยทางอากาศไว้กลางบ้านด้านหลัง ๑ หลุม ขนาดจุคนได้ประมาณ ๕๐ กว่าคน ซึ่งหลุมนั้นได้ขุดเสร็จตามประสงค์ภายในเวลาไม่นาน นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังได้สั่งให้ทลายกำแพงเปิดเป็นประตูตลอดกันกับบ้านขุนพจน์สารบาญ ผู้เป็นอาและบ้านนางเป้าเลี่ยง วัฒนายากร แม่ยายของข้าพเจ้า เพื่อให้เดินไปมาหากันได้จากภายในบ้าน
เมื่อข้าพเจ้าออกตรวจดูทางหน้าบ้านอีกครั้ง พบหมอเสถียร ตู้จินดา ได้วิ่งมาและแจ้งว่า ได้รับโทรเลขจากทางกรุงเทพฯ สั่งให้ระงับการต้านทานพวกทหารญี่ปุ่น เมื่อได้ทราบความดังนั้นข้าพเจ้าจึงรีบวิ่งออกไปทางหลังบ้านเพื่อเข้าไปที่แนวต้านทานทางปีกซ้ายอีกเป็นคำรบที่ ๓ ข้าพเจ้าได้เรียกนายเกษม ทรัพย์เกษมและยกมือส่งสัญญาณให้เขาเข้ามาหาข้าพเจ้า ๑ คน แต่พวกเขากลับพากันคลานคืบเข้ามาหาตั้ง ๕-๖ คน ข้าพเจ้าจึงส่งสัญญาณใหม่โดยยกนิ้วให้ ๑ นิ้วเพื่อให้เข้ามาหาเพียง ๑ คนและให้ที่เหลือตั้งมั่นรักษาแนวไว้เช่นเดิม แต่ในที่สุดแล้วก็เข้ามากัน ๒ คน
ข้าพเจ้าจึงบอกให้พวกเราระงับการยิงต้านทานพวกทหารญี่ปุ่นไว้ แต่ให้ตั้งอยู่ในที่มั่นเช่นเดิมและคุมเชิงไว้โดยไม่ยิง โดยแจ้งข่าวที่รับมาจากหมอเสถียร และให้เขาแจ้งต่อๆ กันไปในตลอดแนวของพวกเราถึงแนวของตำรวจ และย้ำว่าอย่าเพิ่งถอย ให้รอจนกว่าเจ้าหน้าที่เขาจะมาแจ้งเองอีกครั้ง พวกนั้นจึงได้คลานกลับเข้ายึดแนวที่มั่นเดิมไว้อีกและส่งข่าวต่อๆ กันไป
ข้าพเจ้าจึงรีบกลับเข้าบ้านและแจ้งข่าวให้ผู้อพยพทั้งหมดทราบเพื่อให้คลายความหวั่นวิตก แล้วก็ออกมาทางหน้าบ้านอีก มีใครจำไม่ได้ อาจเป็นนายสำราญ พร้อมกับนายอำเภอเมืองและหมอแอสโมรี (...ซึ่งเป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่มาเปิดคลินิกรักษาในเมืองปัตตานี แต่ครั้นญี่ปุ่นเข้าสู่สงครามก็แสดงตัวเป็นนายทหารยศพันตรีแห่งกองทัพญี่ปุ่น...) ได้นำธงห้ามการยิงกันทั้ง ๒ ฝ่ายมาด้วย โดยนำธงญี่ปุ่นแจ้งให้ฝ่ายทหารญี่ปุ่นรู้
เมื่อทั้งหมดได้ทำความเข้าใจกันดีแล้ว ทหารญี่ปุ่น ตำรวจไทย และชาวปัตตานีต่างก็เข้าร่วมชุมนุมกันที่บริเวณสามแยกถนนนาเกลือกับถนนอาเนาะรู ตรงหน้าวัดนิกรชนาราม (วัดหัวตลาด) ข้าพเจ้าได้พูดคุยกันกับนายทหารญี่ปุ่นเป็นภาษาใบ้ซึ่งก็พอจะเข้าใจกันอยู่บ้าง
ผลจากการปะทะกันที่แนวต้านทานนี้ปรากฏว่า ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต ๓ นาย ฝ่ายเราไม่มีการเสียชีวิตเลย มีเพียงนายมานิตย์ วัฒนานิกร ถูกยิงที่ไหล่กระสุนทะลุออก แต่นับว่าโชคดีเพราะกระสุนไม่โดนกระดูกแต่อย่างใด
ในระหว่างที่ชุมนุมกันอยู่นั้นก็มีเสียงเครื่องบินดังกระหึ่มอยู่บนท้องฟ้าตลอดเวลา แลเห็นฝูงเครื่องบินรบบินเข้าแถวสลับฟันปลาแปรขบวนมุ่งออกไปทางทะเล ข้าพเจ้าทราบจากนายทหารญี่ปุ่นคนหนึ่งว่าเป็นเครื่องบินของพวกเขาทั้งนั้น ข้าพเจ้าพอจะนับคะเนได้จำนวน ๔๐-๕๐ ลำ แต่เขาเพียงบินลาดตระเวณเฉยๆ ไม่ได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินอะไรของฝ่ายเราเลย
หลังจากนั้นครู่หนึ่ง ฝ่ายตำรวจไทยก็ได้ถอนกำลังทั้งหมดประมาณ ๑๒ นายกลับสถานีไป โดยมีนายร้อยเอกชายเป็นหัวหน้าชุดควบคุม ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นธุระของข้าพเจ้าช่วยจัดการทั้งหมด ข้าพเจ้าได้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่พวกทหารญี่ปุ่นในทุกทาง เช่นจัดหารถยนต์ให้เขาเพื่อบรรทุกทหารและศพทหารทั้ง ๓ นาย กลับไปพักหน้าจังหวัด ซึ่งในการนี้ก็ค่อนข้างขลุกขลักอยู่เป็นอันมาก
เมื่อเสร็จทางธุระเรื่องของทหารญี่ปุ่นแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รีบเดินทางไปที่หน้าสถานีตำรวจ แต่ก็ไม่พบกับท่านข้าหลวง (น.อ. หลวงสุนาวินวิวัฒน์, ร.น.) ซึ่งท่านได้เดินทางไปจังหวัดยะลา พร้อมกับนายมาโนช วัฒนานิกร (พี่ชายนายมานิตย์) และนายทหารญี่ปุ่น เพื่อเบิกทางและทำความเข้าใจกับกองต้านทานของจังหวัดยะลา ให้ระงับการต้านทานตามนโยบายรัฐบาล
เมื่อไม่พบท่านข้าหลวงข้าพเจ้าจึงเดินกลับบ้าน ก็พอดีมีคนวิ่งมาบอกว่าพบเห็นทหารญี่ปุ่นอีก ๑ กองกำลังเพิ่งจะถึงมาใหม่ ข้าพเจ้าเกรงว่าจะเกิดความเข้าใจผิดกันและเกิดยิงต่อสู้กันขึ้นอีก จึงรีบไปหาหมอแอสโมรีและบอกให้รีบไปรับรองกองทหารญี่ปุ่นนี้เสีย ขณะออกเดินกันไปได้เพียงเล็กน้อยก็พบกับกองทหารที่กลางตลาด กำลังเดินแถวและคุมตัวนายซุ่ยเฉี้ยงเดินชูมือนำหน้าขบวนมา เมื่อหมอแอสโมรีได้ทำความเข้าใจกันดีแล้วทหารญี่ปุ่นก็ได้ปล่อยตัวนายซุ่ยเฉี้ยงเป็นอิสระ
ต่อมาเวลาประมาณบ่าย ๓ โมงเศษ ข้าพเจ้าได้จัดเตรียมเข้าของเงินทองเพื่อจะฝังดินเอาไว้ ตามที่พรรคพวกเพื่อนฝูงทั้งหลายแนะนำให้อพยพออกจากศูนย์กลางตลาด เพราะเกรงการทิ้งบอมบ์จากฝ่ายอังกฤษ ขณะที่กำลังจัดเก็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มจวนจะแล้วเสร็จ ก็พอดีท่านข้าหลวงได้ส่งรถยนต์มาตามตัวข้าพเจ้าให้รีบไปพบ เมื่อไปถึงก็เห็นว่ามีนายพันโทโกบายาจิ แห่งกองทัพญี่ปุ่น นั่งอยู่ด้วยกับท่านข้าหลวงที่จวน กำลังปรึกษาหารือกันถึงเรื่องฉุกเฉินต่างๆ ว่าจะดำเนินการกันอย่างไร และผู้พันโกบายาจิได้ขอให้เราแจ้งแก่ราษฎรอย่าให้อพยพไปไหน ข้าพเจ้าจึงเรียนขออนุญาตท่านข้าหลวงรีบนำรถยนต์นั่งไปเที่ยวป่าวประกาศ บอกราษฎรว่าไม่ต้องตื่นตระหนกอพยพไปไหน เพราะเหตุการณ์เป็นปกติแล้ว ซึ่งก็ได้ผลดีอยู่มาก แล้วข้าพเจ้าก็กลับไปที่จวนเพื่อเรียนให้ท่านข้าหลวงทราบ
ตลอดช่วงเวลาเช้าที่ผ่านมาของวันนั้น ปรากฏว่าบรรดาข้าราชการและราษฎรที่อาศัยอยู่ฝั่งที่ตั้งจังหวัดได้พากันอพยพข้ามสะพานเดชานุชิต และข้ามเรือมาอยู่ทางฝั่งตลาด และบ้างก็อพยพเลยต่อไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น สายหนึ่งอพยพไปที่ กิเซะ ยามู ตลอดระยะทางจนเข้าเขตอำเภอสายบุรี สายหนึ่งอพยพไปอยู่ที่บาระเหม กุโบโต๊ะอาเหย๊าะ แม่ฮ่อ ปุยุต บ้านลี้มอ ล่าเต๊ะ ยะลา ม่วงหมัง ส่วนอีกสายก็ไปทางท่าดาน ปะกาฆอ การอพยพครั้งนี้มีจำนวนทั้งหมดหลายพันคน ส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก โดยมีผู้ชายเป็นผู้ดูแลควบคุมไป
การยกพลขึ้นบกของทหารญี่ปุ่นที่จังหวัดปัตตานีเมื่อยามใกล้รุ่งของวันจันทร์ที่ ๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นี้ ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเป็นหลายทาง ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำ ยกพลขึ้นบกที่ตำบลรูสมิแล ริมฝั่งทะเลตลอดมาจนถึงด่านภาษี ที่บริเวณคอกสัตว์และถนนปากน้ำ วางแนวกันกว้าง ได้เกิดการปะทะยิงต่อสู้กับกองทหาร ร.พัน ๔๒ ส่วนด้านบริเวณที่ใกล้จังหวัดและบ้านพักราชการ มีกองตำรวจ ยุวชนทหาร ข้าราชการ ราษฎร ร่วมมือกันต้านทาน
การต่อสู้ต้านทานกองกำลังทหารญี่ปุ่นด้านจังหวัดนี้ ปรากฏว่ามีข้าราชการ ตำรวจ ยุวชนทหาร ราษฎร เสียชีวิตประมาณ ๒๔ คน เป็นยุวชนทหาร ๕ คน ทหารไทย ร.พัน ๔๒ เสียชีวิตประมาณ ๔๐ คน รวมทั้งผู้บังคับกองพัน พันตรีขุนอิงคยุทธบริหารก็เสียชีวิตไปด้วย ส่วนทหารญี่ปุ่นเสียชีวิตมากมายถึงร้อยกว่านาย
ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำ ยกพลขึ้นบกที่ริมทะเลตรงข้ามกับด่านภาษี ยกขบวนไปตามถนนนาเกลือ ปะทะการต้านทานของเลือดไทยแท้ๆ ซึ่งมีปืนสั้น ปืนแฝด ปืนเดี่ยว ปืนเมาเซอร์ต่อด้าม แบบเลือดชาวบ้านบางระจัน ปะทะกันอยู่นานประมาณ ๕ นาที ก่อนที่กองกำลังตำรวจประมาณ ๑๐ นายได้เข้าทำการร่วมมือต่อสู้ต้านทานด้วย สามารถต้านทานอยู่นานถึง ๒ ชั่วโมง กว่าที่จะมีคำสั่งจากทางรัฐบาลให้ยุติการยิงต้านทาน
การปะทะกันด้านถนนนาเกลือนี้ ทหารญี่ปุ่นเสียชีวิต ๓ นาย ฝ่ายเรามีเพียงได้รับบาดเจ็บถูกยิงที่ไหล่ ๑ คน ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว
เวลาต่อมาเรือลำเลียงก็บรรทุกทหารแล่นเข้าลำน้ำปัตตานีเป็นขบวนยาวยืด ทหารและสัมภาระ รถทหาร ถูกลำเลียงขึ้นบกอย่างคับคั่ง พวกทหารแนวหน้าก็รีบจับหารถโดยสารยึดไปบรรทุกทหารรีบเร่งผ่านหน้าจังหวัดเลยไปยังจุดหมายปลายทางคือ เบตง
เรือลำเลียงทหารมองดูสุดสายตาซึ่งจอดอยู่ในทะเล ในระหว่างนั้น ท้องทะเลจะดูเต็มไปด้วยเรือรบหลายชนิดและเรือลำเลียงขนส่งทหารขึ้นบก มองดูบนถนนจะแลเห็นรถบรรทุกของทหารขนส่งสรรพวัตถุและเสบียง และขนส่งทหารเรื่อยๆ ไป ตลอดวันและค่ำคืน ทหารก็ทำการขนเข้าของขึ้นจากเรือกันอย่างหนักตลอดวัน ถนนหนทางในเมืองก็เต็มไปด้วยการสัญจรของพวกทหารอย่างหนาแน่น ท่าเรือริมแม่น้ำก็เต็มไปด้วยเรือลำเลียงเทียบตลิ่ง ทหารช่างก็ซ่อมแซมสะพานกันอย่างรีบเพื่อขึ้นของหนัก เช่นตัวรถทุกชนิดถึงรถแทงก์ และรถบดหินทำถนน จะเดินไปทางไหนก็จะต้องหลบหลีกทหารไปทุกหนทุกแห่ง ร้านค้ากลางตลาดก็ปิดหมด
กองทหารญี่ปุ่นก็พักกันอยู่อย่างหนาแน่นทั้งสองฝั่งแม่น้ำปัตตานี ทหารญี่ปุ่นได้เข้าอยู่อาศัยในเกือบทุกบ้านเรือนและสถานที่ราชการ วัตถุสัมภาระทุกชนิดและน้ำมันเชื้อเพลิงก็วางเต็มไปตามริมถนนหน้าจังหวัด ยวดยานของเอกชนก็ถูกเก็บขนไปใช้เพื่อการทหารเกือบหมด ไม่มีเหลืออยู่เลยนอกจากที่ได้มีการเก็บซ่อนไว้อย่างดี
สถานที่ราชการและบ้านเรือนราษฎรที่ทหารญี่ปุ่นเข้ายึดอาศัยอยู่มีมากมาย ดังนี้ บ้านพักแพทย์ ๓ หลัง บ้านพักอัยการ บ้านพักนายอำเภอ ที่ว่าการอำเภอ บ้านพักหลังอำเภอ อาคารในโรงพยาบาล ๓ หลัง
สโมสรข้าราชการ บ้านพักข้าราชการ ๕ หลัง โรงเรียนสตรี โรงเรียนช่างไม้ ๒ หลัง โรงเรียนชายประจำจังหวัด ศาลาในสนาม บ้านแขกแถวโรงไม้เจ๊ะอาลีจำนวนหลายหลัง
ที่ทำการป่าไม้ ที่ทำการสถานีตำรวจพิเศษเก่า ศาลากลางจังหวัดทั้งหมด ศาลจังหวัด ที่ทำงานเทศบาล บ้านขุนอนุกิจ ที่ทำการไปรษณีย์ ร้านแผงลอยเชิงสะพานเดชานุชิต ๓ หลัง ที่โกดังเก็บของหน้าสถานีตำรวจ
บางส่วนในวัดตานีนรสโมสร บ้านหวันอับดุลเล๊าะ บ้าน ๓ ชั้นของนายเคี่ยนไถ่ บ้านนายเต็กเฮี้ยน บ้านนายสมเกียรติ เวียงอุโฆษ บ้านแถวหน้าบ้านเอ๊กเซ่ง ๘ ห้อง บ้านนายมาโนช วัฒนานิกร ๒ ห้อง ห้องเช่าของขุนพิทักษ์รายาเลยโรงน้ำแข็งมาโนช ๕ ห้อง
บ้านเช่านายโป้โฮ้ง ที่โรงเรียนจีนเก่า บ้านฮะยีสุหรงหลังใหญ่ ตลาดเทศวิวัฒน์ ตลาดตรงข้าม เรือนแถวข้างบ้านหมอกลิ่น (หมอแผนโบราณ) บริษัทจังหวัด
เข้าของต่างๆ เก็บไว้ในที่ไม่จุ ต้องเก็บวางไว้ตามริมถนนเกลื่อนไปทุกแห่ง จำนวนทหารญี่ปุ่นทั้งสิ้นประมาณ ๕ หมื่นนาย
หลังจากการยกพลขึ้นบกได้ราว ๓ วัน ก็มีรถทหารวิ่งมามากมายนับจำนวนหลายร้อยคันดูเป็นแถวยาวยืดตามริมถนน เป็นรถบรรทุกทั้งสิ้น การขนส่งทหารและสัมภาระต่างๆ ได้ทยอยบรรทุกไปกันเรื่อยๆ ทุกวันมิขาดสาย ทางทะเลก็ขนขึ้นกับเรือยนต์บรรทุกของเรา เสียงเครื่องจักรดังตลอดเวลา รุ่งเช้าเข้าของก็เต็มไปทุกหนทุกแห่ง กลางวันก็มีเสียงเครื่องยนต์รถบรรทุกและเครื่องบิน บินกำกับควบคุมกันตลอดเวลา
ข้าพเจ้าและครอบครัว แม้จะได้จัดเตรียมเข้าของเงินทองรูปพรรณบรรจุปี๊บฝังไว้ที่หลังบ้านแม่ยายของข้าพเจ้า โดยมีนายเกียดและนายหกเคียดเป็นผู้ขุดหลุมฝัง และจัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มบรรจุหีบพอควรที่จะขนเอาไปได้ ส่วนที่เหลืออีกมากมายก็เก็บขนไว้ที่บ้านแม่ยาย แต่ในที่สุดแล้วก็ไม่ได้อพยพไปไหน เพราะตกลงกันเห็นว่าอยู่กับบ้านจะปลอดภัยดีกว่า
ในคืนวันแรกนี้ ข้าพเจ้าเกรงภัยทางอากาศจากฝ่ายอังกฤษจึงได้พากันนอนอยู่ที่ชั้นล่างของเรือน เพื่อจะได้สะดวกหากจะต้องลงไปหลบในหลุมหลบภัยที่ได้ขุดเตรียมไว้ และในคืนรุ่งขึ้นเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ดำเนินไปพอทำให้คลายวิตกลงบ้าง จึงกลับขึ้นไปนอนชั้นบนตามเดิม
คืนวันที่ ๑๐ ธันวา เวลา ๒๐.๒๕ น. มีคนมาตบประตูดังอยู่ราว ๓ นาที และในคืนวันที่ ๑๑ ธันวา เวลาเดียวกัน ก็มีคนมาตบประตูเรียกอีก เหตุการณ์ใน ๒ คืนนี้ทำให้เราในบ้านตื่นเต้นกันมาก ต้องดับไฟหมดและเตรียมอาวุธปืนและดาบพร้อมมือกัน คอยเวลาชี้ขาดของเหตุการณ์ การชี้ขาดตัดสินใจในเรื่องเป็นตายกันเช่นนี้รู้สึกว่าหนักใจมาก ชั้นต้นเราต้องรอคอยจนกว่าประตูจะพังทลายเข้ามา ถ้าเป็นเหตุทุจริตก็ต้องใช้อาวุธที่มีอยู่ต่อสู้ป้องกันตัวกันเท่านั้น เพราะไม่มีทางใดจะดีกว่านี้อีก แต่แล้วก็สงบเงียบไปอีก
รุ่งขึ้นผู้ที่ตบประตูจึงเข้ามาหาบอกให้รู้ว่าเขาเองเป็นผู้ตบประตูมาแล้วสองคืน คือทหารญี่ปุ่นที่เคยมาในบ้านเรานั้นเอง เป็นนายสิบเสนารักษ์ (...คุณลุงประเวศ คณานุรักษ์ บุตรชายนายอนันต์ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า -- "นายทหารญี่ปุ่นกลุ่มนี้ได้ขอเข้ามาใช้สถานที่เพื่อรับฟังวิทยุจากแหล่งอื่น เพื่อดูว่าตรงกับข่าวที่ทางกองทัพญี่ปุ่นประกาศไว้หรือไม่ทุกคืน และยังได้ปิดตราสัญลักษณ์ทางทหารของญี่ปุ่นไว้ที่หน้าบ้านอีกด้วย ซึ่งทหารญี่ปุ่นทุกนายเมื่อเดินผ่านหน้าบ้าน ต้องหยุดทำความเคารพทุกครั้ง"...)
และในคืนเดียวกันนั้น (วันที่ ๑๑ ธันวา ๘๔) ก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่เริ่มยิงที่นอกทะเล ๑๒ นัด ดังเสียงอย่างกับฟ้าลั่น บ้านเรือนสั่นสะเทือนไหว เป็นที่น่าหวาดเกรงกันมาก รุ่งเช้าจึงทราบว่าเรือรบญี่ปุ่นยิงเรือดำน้ำอังกฤษที่โผล่เข้ามา
นับตั้งแต่วันที่ ๘ ธันวาคมวันแรก ข้าพเจ้าก็ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับท่านข้าหลวงที่จวนทุกวันจนถึงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ข้าพเจ้าเริ่มเหน็ดเหนื่อยมากตลอดวัน เพราะต้องคอยวิ่งเต้นหาคนงานและช่วยเหลือให้ความคิดเห็นเสนอท่านข้าหลวง ทั้งในแง่ขอกำลังเพื่อรักษาความสงบจากกองทหาร และคิดหาทางปราบปรามผู้ทุจริตคิดคดต่อชาติไทย ข้าพเจ้าได้เสนอให้ท่านสั่งยิงผู้ทุจริต และรีบจัดการสะสางหาตัวผู้ทุจริตมาลงโทษ ท่านข้าหลวงได้ให้ความไว้วางใจข้าพเจ้าในการเสนอความคิดเห็นจนข้าพเจ้ารู้สึกปิติและเป็นเกียรติยิ่ง
ภายในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ทั้งกลางวันกลางคืนก็คอยรู้สึกวิตกกังวลถึงเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ทุกระยะ
จากที่ข้าพเจ้าตามสังเกตดู ทหารไทย ร.พัน ๔๒ บ่อทอง มีความสนิทสนมรื่นเริงกับทหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดีมาก แต่ติดต่อคุยกันเป็นภาษาใบ้ ทำให้ผู้ดูและผู้คุยรู้สึกสนุกและขบขันมาก ถึงพวกพ่อค้าราษฎรก็เช่นเดียวกัน
ทหารญี่ปุ่นนั้นมีพวกกิเลสหยาบปะปนอยู่บ้าง แต่ที่สร้างปัญหาให้กับราษฎรเราส่วนมากเป็นพวกทหารที่ถูกเกณฑ์มาจากเมืองขึ้นของญี่ปุ่น เช่น เกาหลีและไต้หวัน ถึงกระนั้นก็ดีเมื่อทางการชั้นนายเขาจับได้ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก ถึงกับยิงเป้าไปแล้วก็มีไม่น้อย วินัยของเขาน่าชมมาก
ครั้นการล่วงมาแล้วราว ๑๕ วัน จึงค่อยได้ข่าวจากทางนครศรีธรรมราช ว่า จำรูญ ประเวศ เติมศักดิ์ บุตรชายทั้งสามของข้าพเจ้า และ สมบูรณ์ หลานชาย ที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนอเมริกัน ต้องอพยพออกจากโรงเรียนแต่ทั้ง ๔ คนปลอดภัยดี ทำให้ข้าพเจ้าเบาใจไปได้มาก แต่ก็ยังกังวลใจอยู่เพราะยังไม่ได้รับข่าวจากทางกรุงเทพซึ่ง ละออง ลูกสาวข้าพเจ้าเรียนอยู่ที่โรงเรียนวัฒนา บางกะปิ
ต่อมาจึงได้รับข่าวที่แน่นอนจากจดหมายที่หมอบุญส่ง เลขะกุล ผู้ใจดี ได้ส่งมาถึงนายเข้งถ้องว่า เขาได้ไปค้นหาและพบตัวลูกของข้าพเจ้าทุกคนแล้ว และก็รับมาไว้ที่สหการแพทย์ ส่วนละอองไปอยู่กับป้าเขาที่นางเลิ้ง คือ ฉีสิ้ม ทำให้พวกเราทุกคนคลายความวิตกลงได้มาก
ครั้นถึงวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ข้าพเจ้าก็ให้นายสุนนท์ บุตรชายคนรอง กับนายโป้หยี่ ไปรับพวกเด็กๆ ที่นครศรีธรรมราชกลับมาปัตตานี
เหตุการณ์เฉพาะตัวข้าพเจ้าที่น่าจดจำอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นขณะที่ข้าพเจ้านั่งอยู่ที่บริษัทจังหวัด เวลา ๑๐ โมงเช้า ดูเหมือนจะเป็นวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ขณะนั้นมีนายทหารญี่ปุ่น ๖ นายได้เข้าไปในร้านบริษัท มีนายทหารคนหนึ่งในจำนวนนั้นชี้ที่ตัวข้าพเจ้า แล้วก็พูดกับเพื่อนของเขาโดยข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่อง เขามีอาการพูดยิ้มๆ อย่างเยือกเย็น ราวกับว่าเขารู้จักข้าพเจ้าดี แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลา จึงยิ้มตอบไปให้กัน
ต่อมานายทหารคนนั้นมาหาซื้อของที่ร้านน้ำชาที่แถวหน้าวัดตานีนรสโมสร ขณะที่ข้าพเจ้านั่งร่วมวงอยู่กับ ขุนเจริญวรเวช และนายยอด รัตนคณิต เมื่อนายทหารคนนี้เดินเข้ามา ข้าพเจ้ารู้สึกชอบใจในกิริยาของเขา จึงเชิญให้นั่งรับกาแฟด้วยกัน โดยมีขุนเจริญวรเวชเป็นล่ามพูดภาษาอังกฤษกันพอรู้เรื่อง คุยกันอย่างสนุกอยู่นาน ลงท้ายเขาบอกขุนเจริญวรเวชว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้สั่งให้ลูกน้องทำการยิงเขาก่อนที่ด้านถนนนาเกลือ เมื่อวันจันทร์ที่ ๘ ธันวาคม โดยฝ่ายเขาเดินมากันอย่างเรียบๆ และห้ามไม่ให้ทหารเขายิงเราก่อน เหตุที่ทำให้เขาเข้าใจเช่นนั้น คงเพราะข้าพเจ้าแสดงเป็นหัวหน้าอยู่ในการระงับการยิงต่อสู้ต้านทานกัน
ข้าพเจ้าจึงระลึกได้ว่านายทหารคนนี้แหละที่นำทหาร ๒ กองร้อยมาทางถนนนาเกลือในวันนั้น เขาบอกว่าเขาชื่อ นายเรืออากาศตรี ตาเบรุ อีซากี แห่งกองทัพญี่ปุ่น นายทหารคนนี้เรียบร้อยและเยือกเย็นมาก ข้าพเจ้ารู้สึกชอบนิสัยของเขา เขาบอกว่ากลับจากการรบที่สิงคโปร์แล้วจะแวะเยี่ยมข้าพเจ้าที่บ้านพัก
การขอผ่านทางของกองทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ได้ยกพลขึ้นบกที่บางปู กรุงเทพ ตลอดถึงจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของประเทศไทย แล้วรีบรุดเดินกองทัพโดยรถยนต์บรรทุกและรถไฟ เร่งรีบตีบุกเข้าเขตมลายูของอังกฤษในทันใดนั้น โดยแยกกำลังทหารออกเป็น ๔ ทาง คือ ๑. เข้ากลันตันทางรถไฟ ๒. เข้าผ่านเบตงทางรถยนต์ ๓. เข้าผ่านสะเดาทางรถยนต์และทหารม้า ๔. เข้าผ่านปาดังเบซาร์ทางรถไฟ
และแล้ว กลันตัน ไทรบุรี ปีนัง อิโป เปรัค ก็ตกอยู่ในกำมือของกองทหารญี่ปุ่นภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และในวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๕ ก็เหลือระยะทางที่กองทัพญี่ปุ่นจะบุกถึงสิงคโปร์อีกเพียงราว ๑๕๐ ไมล์เท่านั้น ในขณะที่ฮ่องกงก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดไว้ได้ตั้งแต่ภายในเดือนธันวาคมแล้ว
ที่มา: เรียบเรียงจากบันทึกของ นายอนันต์ คณานุรักษ์