พระจีนคณานุรักษ์
พระจีนคณานุรักษ์ มีนามเดิมว่า จูล่าย แซ่ตัน เป็นบุตรคนที่ ๓ ของหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง กับนางเจียงซุ่น หรือซ่วนเหนี่ยว แซ่โก้ย
เกิดที่ตำบลอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ (สมัยนั้นยังไม่มีชื่อถนน) ซึ่งอยู่ริมน้ำเมืองปัตตานี เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๙๐
ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ เดือน ๑๑ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ รวมอายุ ๗๓ ปี
พระจีนคณานุรักษ์ มีภรรยา ๔ คน และบุตรของภรรยาแต่ละคน ดังนี้
๑. นางเบ้งซ่วน แซ่จุ่ง (นาคพันธ์) มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ
๑.๑ นายบั่นฮก (ขุนจำเริญภักดี)
๑.๒ นายบั่นลก (ขุนพจน์สารบาญ)
๑.๓ นายบั่นซิ่ว (ขุนพิทักษ์รายา)
๒. นางยาง (เป็นน้องสาวของคุณหญิงระนอง ณ สงขลา) มีธิดา ๒ คน คือ
๒.๑ นางกุ้ยฮวย
๒.๒ นางกุ้ยกี
๓. นางยี่เหนี่ยว แซ่ลิ่ม มีธิดา ๑ คน คือ
๓.๑ นางฉุ้นเลี้ยง (ถึงแก่กรรม)
๔. นางอ้อม ไม่มีบุตรธิดา
นายจูล่าย แซ่ตัน ได้ช่วยงานราชการของบิดาจนภายหลังได้แต่งตั้งเป็น "กัปตันจีน" ดูแลปกครองคนจีนในเมืองปัตตานี ได้ทำนุบำรุงบ้านเมืองปัตตานีให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
"กัปตันจีน" เป็นผู้ควบคุมธุรกิจการค้าและการขนส่งซึ่งรวมธุรกิจหลายอย่าง เป็นผู้บัญชาการขนส่ง เป็นผู้จัดการเก็บภาษีขาเข้าและขาออกจากต่างประเทศ และเป็นตุลาการมีอำนาจเต็มที่ในการตัดสินความซึ่งเกิดขึ้นระหว่างชาวจีนด้วยกัน
ต่อมากัปตันจีน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "หลวงจีนคณานุรักษ์" ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระจีนคณานุรักษ์ กรมการพิเศษเมืองปัตตานี" เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๓๑ หน้า ๕๑๕ วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๕๗
เหมืองแร่ที่เคยสัมปทานในสมัยหลวงสำเร็จกิจกรจางวางผู้บิดา มีนายจูเม้งพี่ชายเป็นผู้สืบทอดกิจการแทนบิดา ต่อมารัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานที่ดินทั้ง ๔ แห่งแก่ พระจีนคณานุรักษ์ เป็นการให้รางวัลสินน้ำใจที่พระจีนคณานุรักษ์ได้สนองงานต่างๆ ตามพระราชประสงค์เป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้รับพระราชทานที่ดินตรงบริเวณติดกับสโมสรจังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ใกล้โรงพยาบาลปัตตานี ตำบลสะบารัง เป็นฮวงซุ้ยวงศ์ตระกูลพระจีนคณานุรักษ์ โดยมีหนังสือแจ้งถึงพระยาศักดิ์เสนี สมุหเทศาภิบาลมณฑลปัตตานี เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ร.ศ. ๑๓๑ เป็นหนังสือราชการมหาดไทย ที่ ๗/๕๗๘๘ จากพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายกอรรคมหาเสนาบดี
พระจีนคณานุรักษ์ได้ประกอบคุณงามความดีแก่เมืองปัตตานีมากมาย ในรัชสมัย รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิ การสร้างวัดบางน้ำจืด ที่รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า "วัดตานีนรสโมสร" นั้น พระจีนคณานุรักษ์มีส่วนช่วยในการก่อสร้าง โดยได้รับเงินพระราชทานสมทบด้วย วัดแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สำหรับเจ้าเมืองและกรมการเมืองปัตตานีใช้เป็นที่ประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และยังใช้เป็นที่สำหรับให้เด็กไทยพุทธและไทยมุสลิมได้เรียนหนังสือไทย นอกจากนี้รัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงรับสั่งให้พระจีนคณานุรักษ์เป็นหัวหน้าจัดสร้างโบสถ์วัดมุจลินทวาปีวิหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี และยังได้รับใช้ประเทศชาติสนองพระราชประสงค์ รัชกาลที่ ๕ ในการจัดสร้างวัดต่างๆ ในเมืองปัตตานี ซึ่งยังปรากฏหลักฐานและปรากฏชื่อพระจีนคณานุรักษ์ที่วัดต่างๆ ในหลายอำเภอของจังหวัดปัตตานี
พระจีนคณานุรักษ์มีบทบาทสำคัญในการบูรณะศาลเจ้าเล่งจูเกียง หรือศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว โดยอัญเชิญเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวจากบ้านกรือเซะมาประดิษฐานในศาลเจ้าเล่งจูเกียง นอกจากนั้นยังได้บูรณะวัดราษฎร์บูรณะ หรือวัดช้างให้ ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ ซึ่งต่อมานายอนันต์ คณานุรักษ์ หลานพระจีนคณานุรักษ์ได้รับนิมิตจากหลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด ให้สร้างพระเครื่องหลวงปู่ทวดฯ และในสมัยที่เป็นเทศมนตรีเมืองปัตตานี นายอนันต์ ได้ขอจดทะเบียนตั้งนามสกุลใหม่ (ซึ่งเดิมตระกูลนี้ใช้นามสกุลพระราชทานว่า "ตันธนวัฒน์") ว่า "คณานุรักษ์" ตามราชทินนามของคุณพระจีนคณานุรักษ์ เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓
จดหมายของ ขุนพจน์สารบาญ (บั่นลก)
กราบทูล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่องการถึงแก่กรรมของพระจีนคณานุรักษ์
ที่พักตลาดจีนจังหวัดปัตตานี
วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒
ขอประทานกราบทูล พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงทราบฝ่าพระบาท
ด้วยพระจีนคณานุรักษ์ซึ่งเป็นบิดาของข้าพระพุทธเจ้านั้น ได้ถึงแก่กรรมเสียแล้วในวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒ อายุได้ ๗๓ ปี ข้าพระพุทธเจ้ามีความเป็นเสียใจเป็นอันมาก เหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้กราบทูลมาให้ทรงทราบฝ่าพระบาท
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ลงชื่อ ขุนพจนสารบาญ บั้นหลอก
จดหมายตอบถึง ขุนพจน์สารบาญ (บั่นลก)
จาก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่องการถึงแก่กรรมของพระจีนคณานุรักษ์
ถึง ขุนพจนสารบาญ ณ ตลาดจีนจังหวัดปัตตานี
วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๒
ถึง ขุนพจนสารบาญ
ได้รับจดหมายบอกมาว่า พระจีนคณานุรักษ์ บิดาถึงแก่กรรมนั้น ฉันมีความอาไลยเสียดายเปนอันมาก ด้วยได้คุ้นเคยชอบพอกันมาอย่างไร ขุนพจนสารบาญก็ย่อมจะทราบอยู่แล้ว
เมื่อผู้ใหญ่ล่วงไปเช่นนี้ หวังใจว่าบรรดาบุตรหลานที่ยังอยู่จะมีความปรองดอง เปนสามัคคีกัน ช่วยกันรักษาวงศ์ตระกูลต่อไป เช่นนั้นจึงจะนับว่าเปนผู้มีความกตัญญู
ฉันตั้งใจไว้ว่า ถ้ามีโอกาศได้ลงไปถึงเมืองปัตตานีอีกเมื่อไร จะไปเส้นศพพระจีนคณานุรักษ์ เข้าใจว่าคงฝังไว้ในเมืองปัตตานีนั้นเอง หวังใจว่าขุนพจนสารบาญแลญาติพี่น้องจะมีศุขสำราญอยู่ด้วยกัน
( ลงพระนามดำรงราชานุภาพ.)
|