นายจำเริญ วัฒนายากร ต.ม. และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๔
เกิดเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรคนที่ ๓ ของขุนธำรงพันธุ์ภักดี (ธำรง วัฒนายากร) และนางธำรงพันธุ์ภักดี (สร้อยทอง วัฒนายากร) มีพี่น้องรวม ๑๐ คน ดังนี้
๑. นายสารัตถ์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม)
๒. นายภิญโญ วัฒนายากร
๓. นายจำเริญ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม)
๔. นายมงคล วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม)
๕. นายสมพร วัฒนายากร
๖. นางโสภาพันธุ์ สุวรรณจินดา
๗. ฯพณฯ สวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี
๘. นายวิโรจน์ วัฒนายากร (ถึงแก่กรรม)
๙. พล.ต.ต.นายแพทย์วิบูลย์ วัฒนายากร
๑๐. พ.ต.อ.วิวัฒน์ วัฒนายากร
นายจำเริญ วัฒนายากร ได้สมรสกับนางอาภาพรรณ คณานุรักษ์ ธิดาของขุนอนุพันธุ์ภักดี และเป็นหลานของพระจีนคณานุรักษ์ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มีบุตรและธิดารวม ๗ คน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
๑. นางทิพย์วดี ไม้พุ่ม สมรสกับนายอานันท์ ไม้พุ่ม
มีบุตรธิดา ๒ คน คือ นายสหทิพ ไม้พุ้ม และนางสาวนันทวดี ไม้พุ่ม
๒. นางวิภาดา ปรางพิทักษ์ สมรสกับนาวาเอกวิวัฒน์ชัย ปรางพิทักษ์
มีบุตรธิดา ๒ คน คือ เด็กชายบริภัทร์ ปรางพิทักษ์ และเด็กหญิงสิริภัทร์ ปรางพิทักษ์
๓. นายวีระวัฒน์ วัฒนายากร สมรสกับนางสนธิใจ มณีรัตน์
มีธิดา ๒ คน คือ เด็กหญิงศศิวรรณ วัฒนายากร และเด็กหญิงพรรณเพ็ญ วัฒนายากร
๔. นางสาวภาวิณี วัฒนายากร
๕. นางพรรณิศา อุทยานะกะ สมรสกับนายอุทยาน อุทยานะกะ
มีบุตร ๑ คน คือ เด็กชายวัฒนพล อุทยานะกะ
๖. นางกิติปภา วัฒนายากร
๗. นางสาวอารยา วัฒนายากร
นายจำเริญ วัฒนายากร ได้ถือกำเนิดมาในตระกูลคหบดี สืบสายมาหลายชั่วคน ต้นตระกูลคือ หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง (ตันปุ่ย แซ่ตัน) เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ ๓ หลวงสำเร็จกิจกรจางวางมีบุตรและธิดา รวม ๕ คน หนึ่งในนั้นก็คือ หลวงสุนทรสิทธิโลหะ ซึ่งเป็นตาของขุนธำรงพันธุ์ภักดี และคุณพระจีนคณานุรักษ์ ซึ่งเป็นปู่ของขุนอนุพันธุ์ภักดี นับว่านายจำเริญ วัฒนายากร เป็นทายาทรุ่นที่ ๕ ของตระกูล
การศึกษา
ได้ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนวัดตานีนรสโมสร ต่อจากนั้นได้เข้าเรียนที่กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๙ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ต่อจากนั้นได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมธรรมศาสตร์และการเมือง (ต.ม.ธ.ก. รุ่น ๕) เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๖
การทำงาน
หลังจากสมรสกับนางอาภาพรรณ วัฒนายากร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้ดำเนินธุรกิจที่จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขานราธิวาส และประกอบกิจการโรงน้ำแข็งแห่งแรกในจังหวัดนราธิวาส และตัวแทนขายทั่วไป GSA (General Sales Agent) และบริการงานภาคพื้นสนามบิน GHA (Ground Handling Agent) ของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ จนถึงปัจจุบันและได้เปลี่ยนเป็นบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอร์อันดามัน จำกัด และประกอบกิจการทำสวนยางพาราที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ด้านสังคม
- เป็นกรรมการจัดสรรหาที่ดินและก่อสร้างพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์
- ปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดแข่งขันเรือกอและชิงถ้วยพระราชทานหน้าพระที่นั่ง จนเป็นประเพณีสืบเนื่องถึงทุกวันนี้ นายจำเริญ วัฒนายากร ได้กล่าวเสมอๆ ว่า "การแข่งขันเรือกอและด้วยฝีพายชิงถ้วยพระราชทานฯ จะสำเร็จไม่ได้เป็นอันขาด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากชาวนราธิวาสทุกคน ผมคิดริเริ่มก็จริง แต่เป็นเพราะพระบารมีของพระองค์ท่าน จึงช่วยให้งานนี้ลุล่วงและสำเร็จผล"
- เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ๓ สมัย
สมัยที่ ๑ ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ - พ.ศ. ๒๕๑๐ (กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง)
สมัยที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ - พ.ศ. ๒๕๑๕
สมัยที่ ๓ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ - วันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
- เป็นที่ปรึกษาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
- ปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ
- ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นคณะกรรมการผู้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมผู้ปกครอง-ครู โรงเรียนนราสิกขาลัย
- ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นคณะกรรมการชุดเริ่มก่อตั้ง ราชานุกูลมูลนิธิ จังหวัดนราธิวาส และเป็นประธานมูลนิธิ
การบริจาคในด้านพุทธศาสนา และการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์
นายจำเริญ วัฒนายากร เป็นผู้ที่มีจิตยึดมั่นในพุทธศาสนา มีศรัทธาสร้างกุศลตลอดมา มิใช่เฉพาะพระพุทธศาสนาอย่างเดียว แต่กับศาสนาอื่นๆ ด้วย อันเป็นที่ทราบกันดีทั่วไป นอกจากนี้ยังได้อุทิศเวลา กำลังกาย กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือบำรุงสาธารณประโยชน์อื่นๆ มากมาย
งานอดิเรก
นายจำเริญ วัฒนายากร
- ชอบถ่ายภาพ
- ชอบอ่านและศึกษาประวัติศาสตร์
- ชอบสะสมพระเครื่อง
- ชอบเล่นกีฬากอล์ฟ เทนนิส รักบี้ ฟุตบอล
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์เหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๔ เป็นเครื่องหมายพระมหากรุณาธิคุณเฉพาะพระองค์ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗
- เครื่องราชอิสริยาภรณ์ มงกุฎไทย ชั้นที่ ๓ ชื่อ ตริตาภรณ์ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗
วาระสุดท้าย นายจำเริญ วัฒนายากร ได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดเท้าซ้าย และได้รับการตัดเท้าซ้าย เนื่องจากหากปล่อยไว้จะเกิดอันตรายได้ และมีถุงลมปอดด้านขวาแตก มีลมในปอด วันอาทิตย์ที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (นายกิตติ กิตติโชควัฒนา) เชิญดอกไม้พระราชทานเยี่ยมที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ต่อมานายจำเริญ วัฒนายากร ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๕.๑๖ น. ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา จังหวัดยะลา รวมอายุได้ ๗๘ ปี ได้ตั้งศพบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม ณ วัดบางนรา อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ๗ วัน
ที่มา: อนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ นายจำเริญ วัฒนายากร ต.ม. และเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๔
ณ ฌาปนสถานเทศบาลเมืองนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
วันเสาร์ ที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๕