ชีวประวัติ จางวางโทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง
|

(ภาพ: ป้ายหน้าชื่อหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง)
.......ครั้งสมัยหนึ่ง ณ ประเทศจีน มณฑลฮกเกี๋ยน จังหวัดเจียงจิวฮู อำเภอเจียะแม้เกี่ยง (ม้าหิน) ตำบลถังโบ้ย มีหมู่บ้านราษฎรที่เจ๋าโป๋เจี่ย (หมู่บ้านหลังเง็ก) จีนพวกหนึ่งแซ่ตัน ตั้งเคหะสถานอยู่ตีนเขานำไท้บู้ซัว หัวหน้าครอบครัวชื่อตันเต็ก ตันเต็กผู้นี้ทราบว่า ได้สืบเชื้อสายมาจากพระจีนตันเส็งอ๋อง ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสมัยหนึ่งในประเทศจีน
บิดาของตันเต็กชื่อ ตันกวงเลี่ยง ตั้งตนเป็นผู้กู้ชาติจากพวกตาดที่เข้ามาครอบครองแผ่นดินประเทศจีน เรื่องมาเกิดขึ้นเมื่อสมัยพระนางซูสีไทเฮาครองอำนาจ ตันกวงเลี่ยงผู้นี้มีความสามารถเก่งกาจทางหมัดมวยและวิชาเพลงดาบและกระบี่เป็นเลิศ และเคารพนับถือพระเจ้ากวนอูเป็นสัจจะธรรม พรรคพวกตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะเถี้ยนตี่ฮวย พร้อมกับเครื่องหมายมีเป็นเบี้ยอีแปะ ด้านหน้าเขียนตัวอักษรเถี้ยน ด้านหลังเขียนตัวหนังสือว่า ตี่
ขณะเดียวกันในมณฑลฮกเกี๋ยนก็เกิดคณะกบฏบ๊อกเซอร์ขึ้นอีกคณะหนึ่ง โดยมีนายอั้งซิ่วจวนเป็นหัวหน้า มีบุคคลราษฎรเลื่อมใสเข้าเป็นสมัครพรรคพวกมากมาย นายอั้งซิ่วจวนได้ใช้ให้คนไปเกลี้ยกล่อมชักชวนคณะเถี้ยนตี่ฮวยเข้าเป็นพรรคพวกกันหลายครั้ง แต่นายตันกวงเลี่ยงไม่ยินยอมเพราะรังเกียจที่คณะบ๊อกเซอร์เป็นพวกนับถือคริสต์ คริสตศาสนากำลังระบาดอยู่ในประเทศจีนขณะนั้น เมื่อนายอั้งซิ่วจวนหัวหน้าคณะบ๊อกเซอร์เห็นว่าจะเป็นไมตรีกันไม่ได้ ขืนเอาไว้ก็จะเป็นภัยแก่ตัว เพราะอยู่ในมณฑลเดียวกัน จึงตัดสินกันด้วยกำลังกันจนคณะเถี้ยนตี่ฮวยที่มีกำลังคนน้อยกว่าแพ้ และพร้อมกันนั้นสมัครพรรคพวกของคณะเถี้ยนตี่ฮวยก็แตกความสามัคคี ส่วนมากลงความเห็นว่าประเทศชาติเป็นใหญ่ การที่หัวหน้าใช้อารมณ์เอาต่างศาสนามาเป็นข้ออ้างนั้นไม่ถูกต้องจึงให้ตีจาก
เมื่อนายตันกวงเลี่ยงพ่ายแพ้แก้คณะบ๊อกเซอร์ ก่อนหนีได้เรียกบรรดาลูกหลานที่ใกล้ชิดมาสั่งเสีย และแบ่งสมบัติเรือกสวนไร่นาแจกจ่ายกันถ้วนหน้า และสั่งลูกชายคนเดียวไว้ว่า ขอให้ตั้งตัวอยู่ในทางสมถะ การเป็นศัตรูกันระหว่างคณะเป็นเรื่องของชาติไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว จงพยายามตั้งหน้าทำมาหากินโดยสุจริตธรรม อย่าเบียดเบียนผู้อื่น อย่าเป็นขุนนาง อย่าเล่นการเมือง จงสั่งสอนลูกหลานไว้ อย่าได้หัดเพลงอาวุธจะร้อยวิชา ทางที่ดีจงเป็นชาวนาหรือพ่อค้าจะได้มั่งมีศรีสุขสืบไป อย่าเป็นขี้ข้าพวกตาด ต่อไปจะเกิดการจราจล และที่ดินนาของเราเสื่อมคุณภาพมากแล้ว หากไม่สามารถสละสมบัติในขณะนี้ได้ แต่สืบไปจงให้ลูกหลานออกไปหากินต่างเมืองเถิด สั่งเสร็จแล้วก็นำลูกน้องที่ยังจงรักภักดีจำนวนหนึ่งมุ่งขึ้นเขานำไท้บู้ซัว ออกอำเภอไฮเต็ง ลงเรือออกทะเลหายสาบสูญไป
|
(ภาพ: บ้านหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง หรือบ้านกงสี เลขที่ 27 ถนนอาเนาะรู)
ฝ่ายลูกชายตันเต็ก เมื่อได้รับคำสั่งจากบิดาก็ปฏิบัติตามทุกประการ ต่อมานายตันเต็ก หัวหน้าหมู่บ้านหลังเง็ก เกิดบุตรชาย ๒ คน คนพี่ชื่อเจียง คนน้องชื่อปุ่ย คนพี่เจริญรอยตามบิดา แต่สำหรับคนน้องแล้วตรงกันข้าม นิสัยมักเกะกะเสเพลชอบคบเพื่อนฝูง ไม่ชอบทำนา เล่นการพนันทุกชนิด ต่อมาวันหนึ่ง เมื่อตันปุ่ยอายุได้ ๑๗ ปี ได้มีเพื่อนฝูงมาชักชวนออกไปจากบ้านนานถึง ๒ ปี โดยไม่ปรากฎข่าวคราว บิดาและพี่ชายเข้าใจว่าหายสาบสูญไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกคณะบ๊อกเซอร์เพื่อกู้ชาติ
อยู่มาวันหนึ่งตันปุ่ยได้มาปรากฎตัวขึ้นที่หมู่บ้านอีกครั้งหนึ่ง และเข้าคำนับบิดาและพี่ชายแสดงความจำนงค์ขอลาเดินทางออกนอกประเทศ และยินยอมมอบส่วนสมบัติทรัพย์สินของตนยกให้พี่ชายจนหมดสิ้นแต่ผู้เดียว เพียงแต่ขอสุกรสัก ๑๐๑ ตัว บิดาและพี่ชายเห็นว่าจะห้ามปรามทัดทานไม่ได้แล้ว ก็อนุญาต เมื่อตันปุ่ยรวบรวมสุกรได้ครบตามจำนวนแล้ว ก็ลาบิดาและพี่ชายตลอดจนญาติมิตร เสร็จแล้วให้ฆ่าสุกรตัวแรกร่ำลาบรรพบุรุษตามธรรมเนียม แล้วออกเดินทางไปกับเพื่อนฝูงทันที
สมัยนั้นมีธรรมเนียมอยู่ว่า ผู้ใดในจังหวัดเจียงจิวฮู เมื่อเดินทางถึงหมู่บ้านอำเภอใด ก็จะนำสัตว์เป็นสุกร หรือแพะ แกะ เป็ด ไก่ ที่นำไปค้าด้วย (ยกเว้น ม้าและวัวสำหรับไถนา จะไม่ยอมซื้อขายเด็ดขาด เพราะในจังหวัดนี้ขัดสนสัตว์ ๒ ชนิดนี้ที่สุด มีกฏห้ามไม่ให้ผู้หนึ่งผู้ใดฆ่าและกินเนื้อเด็ดขาด) ไปมอบให้กับ เป้าจิ้นก๋อง หัวหน้าหมู่บ้านนั้น ๑ ตัวก่อน มิฉะนั้นจะไม่ปลอดภัยจากการถูกลักขโมยหรือปล้นสดมภ์ แต่สำหรับตันปุ่ยแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อถึงตำบลใดส่วนมากนายตำบลออกมาให้การต้อนรับเลี้ยงดูเป็นอย่างดี (เข้าใจว่าระหว่างที่ตันปุ่ยหายไป ๒ ปี คงจะปูพื้นฐานทางนักเลงไว้) เมื่อตันปุ่ยจะลาออกเดินทางก็ให้ยัดเยียดสุกรให้หมู่บ้านตำบลละคู่ โดยคำพูดเพียงประโยคเดียวขอฝากให้เลี้ยงไว้เป็นทุนสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปหาตนเมื่อตนต้องการ จนถึงท่าเมืองเอมุยแล้วให้จำหน่ายสุกรที่ไปบ้างบางส่วน แลกเรือสำเภาได้ ๑ ลำ พาสมัครพรรคพวกรวม ๒๕ คน มุ่งสู่ทะเลโดยปราศจากจุดหมายใดๆ
|
(ภาพ: บ้านกงสีนี้ใช้เป็นที่ตั้ง"สมาคมทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง")
ครั้นต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์ ณ กลางทะเลหัวเขาแดง เมืองสงขลา ปรากฎมีเรือสำเภาจีน ๑ ลำ กางใบเข้ามาทอดสมอเทียบท่า ในลำเรือปราศจากสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่ข้าวสารก็เหลือน้อยเต็มที มีแต่สุกรอยู่ ๒ - ๓ ตัว แต่คนจีนในเรือต่างยิ้มแย้มแจ่มใสดี นายอากรเจ้าท่าลงไปสอบถามการเป็นมาค้าขายตามระเบียบ มีจีนผู้หนึ่งมีลักษณะดี ตัวเล็กผอมขาวท่าทางเจ้าปัญญา คือ ตันปุ่ยนั้นเอง ลุกขึ้นตอบว่าข้าพเจ้ามาจากเมืองฮกเกี๋ยน ทราบกิตติศัพท์ว่าเจ้าเมืองที่นี่เป็นจีนฮกเกี๋ยนแซ่เง่า อยู่จังหวัดเดียวกัน จึงให้ตั้งหน้าเดินทางมาขอพึ่งบารมีทำมาหากินเพราะทางเมืองจีนปัจจุบันนี้เกิดยุคเข็ญถูกกบฏบ๊อกเซอร์อั้งซิ่วจวนรบกวนข้าวในนาเมื่อเก็บเกี่ยวได้แล้วก็ถูกแบ่งไปเพื่อใช้ในการกู้ชาติ พอทหารหลวงมาปราบกลับซ้ำร้ายเข้าไปอีก เป็ดไก่สุกรที่เลี้ยงไว้ ก็ถูกทหารหลวงจับไปฆ่ากินหมด พวกข้าพเจ้าจึงอดอยาก ต้องบากหน้าทนลำบากเพื่อมาหาที่พึ่งใหม่ แต่เกิดมาถูกพายุและหลงทิศทางอยู่กลางทะเลเสียหลายเดือนจนอาหารในเรือขาดแคลน พวกเราพากันมารวม ๒๕ คน แต่ขึ้นบกเสียกลางทาง ๑๗ คน เพราะทนอดอยากไม่ไหว แลสินค้าที่นำมาก็ได้แวะขายตามรายทาง แลกเปลี่ยนเงินทองให้พรรคพวกไปทำทุนหากินหมดแล้ว
สมัยก่อนการเดินเรือไม่มีเข็มทิศ ถือความชำนาญเป็นใหญ่ โปรดเข้าใจเสียด้วยว่าการเดินทางผ่านทะเลจีนนั้นอันตรายที่สุด เสี่ยงต่อชีวิตและสินค้าที่นำไปมาค้าขายมาก คนไทยถือว่าผู้ใดสามารถนำเรือหรือลูกเรือผ่านทะเลจีนได้นับว่าโชคดี เพราะนอกจากจะถูกมรสุมทางทะเลแล้ว ยังจะต้องผจญกับโจรสลัดที่มีอยู่ทุกเกาะแก่งกลางทะเลอีกด้วย จึงให้สักมังกรพันมือหรือทำเครื่องหมายใดๆ ไว้เป็นที่ระลึกอวดชาวเรือด้วยกันว่าข้าพเจ้านี้ได้ผ่านทะเลจีนมาแล้ว คนเรือเขาให้เกียรติกันเช่นนี้
คนจีนสมัยก่อนเข้าเดินเรือสามารถและปลอดภัย เพราะมีจุดหมาย เช่นเรือสำเภาของตันปุ่ยเป็นต้น เริ่มต้นที่เอมวย (เอมุย) ก็หมายซัวเถา ออกจากซัวเถา หมายเกาะไฮหลำ ออกจากเกาะไฮหลำ หมายฮานอย แล้วเลียบแหลมเขมร มาเข้าอ่าวไทยตามลำดับ เขาไม่เสี่ยงออกกลางทะเลเป็นอันขาด เพราะถือสินค้าในเรือเสมือนชีวิตของลูกเรือทุกคน จึงไม่ค่อยปรากฎว่า เรือสินค้าจีนอัปปางกลางทะเล จากแหลมเขมรก็ต้องมุ่งไปตราดหรือจันทบุรี ระยอง ชลบุรี ตามลำดับ
|
(ภาพ: หน้าพระและหน้าชื่อบรรพบุรุษภายในบ้านกงสี)
ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะนั้นพระยาตานี (ตวนสุหลง) พระยาหนองจิก (ตอนจิก) พระยายะลา และพระยาระแงะ รวมกัน ๔ เมือง ยกกำลังเข้าตีเมืองยะหริ่ง พระยายะหริ่งสู้ไม่ได้จึงหนีไปอาศัยพระยาสงขลา (เทียนเส็ง ณ สงขลา) ต่อมาทางกรุงเทพฯ ได้โปรดเกล้าให้พระยาเพ็ชรบุรีเป็นแม่ทัพรวบรวมกำลังอยู่ที่เมืองสงขลา เพื่อจัดกำลังพลไปปราบพระยาตานีและพวก ซึ่งถือเป็นกบฏ ตันปุ่ยและพรรคพวกอาศัยอยู่ในจวนพระยาสงขลาจึงได้โอกาสนำสมัครพรรคพวกชาวจีนอาสาออกสู้รบและกระทำการจนสำเร็จกิจ ตามคำสั่งของพระยาเพ็ชรบุรีและพระยาสงขลาจนได้รับความดีความชอบอย่างใหญ่หลวง พระยาสงขลาจึงขอโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตันปุ่ยเป็นหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ครั้นเมื่อเดินทัพมาถึงเมืองปัตตานี ตันปุ่ยซึ่งเป็นหลวงสำเร็จกิจกรจางวางมองเห็นที่ดิน ณ ที่หัวตลาดจีน มีชัยภูมิดี เหมาะสมกับการทำมาหากินทางค้าขาย เพราะใกล้ริมแม่น้ำและทะเล จึงได้เข้าขออนุญาตต่อแม่ทัพทั้งสอง ขอที่ดินและคนจีนที่สวามิภักดีอยู่ในกองทัพให้ตั้งรกรากอยู่ ณ ที่ปัตตานี เพื่อป้องกันการจราจลและโจรผู้ร้ายของบรรดาพวกกบฏที่ยังหลงเหลืออยู่ และจะได้ไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าเมืองคนไทยกับเจ้าเมืองคนมลายู เพราะตนเป็นคนจีน คงจะให้ความเชื่อถือและเจ้าเมืองทั้ง ๒ ฝ่าย ให้ประสานสามัคคีเป็นธรรมได้ แม่ทัพทั้งสองเห็นชอบกับความคิดของตันปุ่ยจึงให้ออกประกาศแต่งตั้งให้หลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เป็นนายกองหัวหน้าคณะคนจีน ณ บัดนั้น พร้อมกับมอบบรรดาคนจีนที่อยู่ในกองทัพผู้สมัครจะอยู่ช่วย ควบคุมเชิงทั้ง ๒ ฝ่ายไว้พอสมควร และประกาศยกที่ดินที่หัวตลาดทั้งหมดให้แก่จีนปุ่ยและพรรคพวกทำมาหากินเลี้ยงชีพสืบต่อไปชั่วลูกหลาน
ที่มา: ประวัติผู้แต่ง ข้าพเจ้านายวิชิต คณานุรักษ์ (ซ่วนยิ่น ตันธนวัฒน์) สูติกาลเวลา ๐๘.๓๐ น. วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ ... ข้าเป็นบุตรของนายวิฑูลย์ คณานุรักษ์
|
|
ทายาทหลวงสำเร็จกิจกรจางวาง เมืองปัตตานี