.jpg)
(ภาพ: ขุนธำรงพันธุ์ภักดี และนางสร้อยทอง (คณานุรักษ์) วัฒนายากร)
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี (ธำรง วัฒนายากร) เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของจังหวัดปัตตานี ได้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการศึกษา การสาธารณูปโภค การศาสนา
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี เดิมชื่อ ซุ่นจ่าย วัฒนายากร เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่บ้านเลขที่ ๒๕/๑ ถนนอาเนาะรู ตำบลอาเนาะรู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นบุตรคนโตของนายฉุ้นฮวด วัฒนายากร (แซ่ซิม) และนางเป้าเลี่ยง สกุลเดิม คณานุรักษ์ หรือแม่ดี (นางเป้าเลี่ยง เป็นบุตรีของหลวงสุนทรสิทธิโลหะ ซึ่งเป็นพี่ชายร่วมบิดามารดาของพระจีนคณานุรักษ์) มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก ๖ คน ดังนี้
๑. ขุนธำรงพันธุ์ภักดี
๒. นางเสริมสุข คณานุรักษ์
๓. นายซุ่นลิ่ม วัฒนายากร
๔. นางสาวซุ่นหนอก (ถึงแก่กรรมตั้งแต่เด็ก)
๕. นางอวยพร (คณานุรักษ์) สูยะโพธิ์
๖. นางดวงเดือน คณานุรักษ์
๗. นางเปรมจิตร จงรักษ์
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี ถือกำเนิดมาในตระกูลคหบดีที่พรั่งพร้อมอุดมสมบูรณ์ทั้งทรัพย์สินเงินทองและญาติมิตรสหาย มีอุปนิสัยซื่อตรง เฉลียวฉลาด มีความกตัญญูต่อบุพการี ได้รับการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนวัดตานีนรสโมสร หรือวัดบางน้ำจืด โดยศึกษาที่ศาลาวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกลที่ ๕ มีพระบรมราชโองการให้พระจีนคณานุรักษ์เป็นผู้สร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาและใช้เป็นโรงเรียนสำหรับกุลบุตรกุลธิดาในเมืองปัตตานี ซึ่งมีข้อความจารึกไว้ในแผ่นศิลาจารึกที่ฝาผนังพระอุโบสถของวัดตานีนรสโมสรจนกระทั่งทุกวันนี้
ต่อมา เมื่อนายทอง คุปตาสา (ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาพิบูลพิทยาพรรค) มาจัดการศึกษาแผนใหม่ขึ้นที่มณฑลปัตตานี ขุนธำรงพันธุ์ภักดีได้ศึกษาต่อที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นอกจากนี้ก็ยังศึกษาภาษาจีนจนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว และภายหลังได้ไปศึกษาต่อที่เกาะปีนัง ในประเทศมลายู (มาเลเซีย) ด้วยเหตุนี้ขุนธำรงพันธุ์ภักดีจึงมีความรู้แตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาจีน และภาษาอังกฤษ
ขุนธำรงพันธุ์ภักดี ได้ช่วยงานของบิดามารดาด้วยดีมาตลอดตั้งแต่เยาว์วัย ทั้งยังช่วยดูแลส่งเสริมน้องๆ ทั้งชายและหญิง ท่านได้สมรสกับนางสาวสร้อยทอง คณานุรักษ์ บุตรีคนที่ ๒ ของขุนพิทักษ์รายา ซึ่งขณะนั้นขุนธำรงพันธุ์ภักดีและนางสาวสร้อยทองต่างก็มีอายุเท่ากัน คือ มีอายุ ๑๗ ปี และทั้งสองยังเกี่ยวดองเป็นเครือญาติกันอีกด้วย ขุนธำรงพันธุ์ภักดีและนางสร้อยทอง มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งหมด ๑๐ คน ดังนี้
๑. นายสารัตถ์ วัฒนายากร
๒. นายภิญโญ วัฒนายากร
๓. นายจำเริญ วัฒนายากร
๔. นายมงคล วัฒนายากร
๕. นายสมพร วัฒนายากร
๖. นางโสภาพันธุ์ สุวรรณจินดา
๗. ฯพณฯ นายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี
๘. นายวิโรจน์ วัฒนายากร
๙. พล.ต.ต.นายแพทย์วิบูลย์ วัฒนายากร
๑๐. พ.ต.อ.วิวัฒน์ วัฒนายากร
ขุนธำรงพันธุ์ภักดีได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์เมื่อมีอายุครบ ๒๑ ปี ในพ.ศ. ๒๔๖๒ ที่วัดตานีนรสโมสร ซึ่งเป็นวัดที่ท่านได้รับการศึกษาชั้นต้นนั่นเอง โดยท่านบวชอยู่ ๑ พรรษา
จากการที่ท่านเป็นนักธุรกิจคนสำคัญของเมืองปัตตานีในสมัยนั้น อีกทั้งยังได้ช่วยเหลือทางราชการด้วยดีเสมอต้นเสมอปลาย ท่านจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนธำรงพันธุ์ภักดี" กรมการพิเศษของจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ถือศักดินา ๔๐๐ เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูลสืบมา
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ขุนธำรงพันธุ์ภักดี ได้ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นที่เมืองปัตตานี อีกทั้งยังได้ทำเหมืองแร่ที่ตำบลถ้ำทะลุ ที่ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เรียกว่าเหมืองแร่ลาบู ต่อมากิจการไฟฟ้าได้โอนให้รัฐบาลรับไปดำเนินการ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘
ท่านและภรรยาเห็นความสำคัญของการศึกษาเสมอมา จึงได้ซื้อโรงเรียนดรุณศึกษา ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้นายภิญโญ วัฒนายากร บุตรชายคนที่ ๒ ดำเนินกิจการจนถึงทุกวันนี้
ขุนธำรงพันธุ์ภักดีได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยถึง ๒ สมัย คือ สมัยแรกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๓ และในสมัยที่ ๒ ก็ได้รับความไว้วางใจให้เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปัตตานีอีกในปี ๒๔๘๘ จนหมดวาระในปี พ.ศ. ๒๔๙๒
ขุนธำรงพันธุ์ภักดีและนางสร้อยทองผู้เป็นภรรยา เป็นผู้ที่ตั้งตนมั่นคงต่อพระพุทธศาสนา ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาตลอดอายุขัย กล่าวคือ ได้สร้างพระประธานประดิษฐานไว้ที่พระอุโบสถต่างๆ หลายแห่ง และยังได้สร้างถาวรวัตถุให้แก่พระพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น สร้างพระอุโบสถวัดวชิรปราการ ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ร่วมสร้างพระอุโบสถวัดคูหาภิมุข (วัดถ้ำ) จังหวัดยะลา สร้างช่อฟ้าเอกพระอุโบสถวัดโคกสมานคุณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้สร้างศาลาการเปรียญ วัดตานีนรสโมสรเป็นอาคาร ๒ ชั้นขนาดใหญ่ สร้างหอระฆัง ๒ ชั้น ที่วัดตานีนรสโมสร สร้างหน้าบันพระอุโบสถสมทบทุนสร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และโรงเรียนปริยัติธรรมวัดนพวงศาราม อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี และได้สมทบทุนสร้างศาลาสันติสุข ศาลเจ้าเล่งจูเกียง (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี นอกจากนี้ยังได้ช่วยเหลือกิจการด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลและสาธารณกุศลอื่นๆ อีกมากมาย